การออกแบบเว็บไซต์ “ที่ดี” ไม่ใช่ “แค่มี”
“เว็บไซต์” เป็นเครื่องมือการตลาดออนไลน์ที่ยั่งยืน
และมีประสิทธิผลสูงมาก โดยตัวเราเป็นเจ้าของ 100% ซึ่งส่วนใหญ่เว็บไซต์มักจะถูกพูดถึงในทาง “ดีไซน์สวยงาม และการทำอันดับใน Google”
ความจริงแล้ว …
สิ่งที่นำเสนอในการออกแบบเว็บไซต์ที่มีประสิทธิภาพ เป็นงานที่ซับซ้อนกว่าคำว่า “การออกแบบเว็บไซต์”
กระบวนการสร้างเว็บไซต์ที่ดี
เป็นกลยุทธ์ที่เริ่มต้นจาก “มุมมองของธุรกิจ” ท้าทายด้วยการเขียนคำโฆษณา การปรับแต่งรูปภาพ การจัดวางองค์ประกอบทางศิลป์ การศึกษาพฤติกรรมผู้ใช้งานเว็บไซต์ ทั้งหมดนี้ผ่าน การคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) อย่างลึกซึ้งในหลากหลายมิติ
เพื่อการสร้างสรรค์ทั้ง “ภาพลักษณ์และความรู้สึก”
ที่ผู้ใช้งานเว็บไซต์หรือลูกค้า รู้สึกต่อเว็บไซต์และแบรนด์ของเรา รวมถึงความสำเร็จทางเทคนิค ทั้งในด้านระบบและการจัดทำโครงสร้างเว็บไซต์ที่รองรับการต่อยอดทางการตลาดออนไลน์
การทำเว็บไซต์แบบ “แค่ให้มี”
อาจจะเป็นเว็บไซต์ราคาถูกหรือราคาแพงก็ได้ แต่การมีอยู่ของเว็บไซต์ไม่ได้ช่วยธุรกิจไปถึงเป้าหมาย หรือไม่ก่อให้เกิดคุณค่า คุณประโยชน์แก่ใคร รวมถึงการปล่อยเว็บไซต์ให้ร้าง ไม่มีทีมงานคอยดูแล อัปเดตข้อมูลและระบบ
ส่วนตัวยุ้ยมองว่า
ภาพลักษณ์ของเว็บไซต์จะถูกเชื่อมโยงไปยังภาพลักษณ์ของธุรกิจเสมอค่ะ (Brand Image)
ขอบคุณรูปภาพ blog.xola.com
หากคุณลองจินตนาการตาม หรือ คุณอาจจะเคยเห็นเว็บไซต์ประเภทนี้อยู่บ้างแล้ว เช่น
- ข้อความในเว็บไซต์ อ่านแล้วงงๆ เหมือนไม่ได้ถูกเขียนมาเพื่อให้ “คน” อ่าน (เหมือนสแปมมากว่า)
- ใช้รูปภาพคุณภาพต่ำ และผิดสัดส่วน เบี้ยวไป เบี้ยวมา
- สีสันของเว็บ ฉูดฉาดแสบตา (ไม่ได้ทดสอบ Color Contrast ให้อยู่ในช่วงที่มนุษย์อ่านแล้วสบายตา)
- ใช้จำนวนสีมากเกินไป ข้อความ 7 บรรทัด จัดไปเลย 7 สี อะไรแบบนี้
- ตัวหนังสือจำนวนมาก และสิ่งอันที่อัดแน่น โดยไม่มีการจัดวางองค์ประกอบเว็บไซต์อย่างเหมาะสม
- ไม่มีข้อความโฆษณา กระตุ้นให้คนอยากซื้อสินค้า หรือปุ่มติดต่อกลับ (Call-to-Action)
- ไม่มีพระเอก เพื่อนพระเอก ตัวประกอบ (โดดเด่นเน้นทุกอย่าง ก็จะแย่งซีนกันเอง กลายเป็นไม่มีอะไรเด่น)
- ภาพรวมเว็บไซต์ไม่สามารถทำให้มั่นใจได้ว่า “ธุรกิจหรือร้านค้านี้ เชื่อถือได้ ไว้ใจได้”
ในทางกลับกัน …
การทำเว็บไซต์แบบมีกลยุทธ์ ออกแบบอย่างดี
ไม่ใช่เพียงแค่ดึงดูดลูกค้าได้ แต่จะดึงดูดบริษัทคู่ค้า partner, supplier และคนทำงานเก่งๆ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ก็อยากร่วมงานกับบริษัทที่มีภาพลักษณ์ดี ที่ช่วยส่งเสริมโอกาสให้กับพวกเค้าได้
เคยคุยเล่นๆ กับนักศึกษาที่ยุ้ยสอนวิชา Branding ค่ะว่า มีความคิดเห็นหรือรู้สึกยังไงระหว่าง
“เว็บไซต์ที่ดูตั้งใจทำ กับ เว็บไซต์ที่ดูแค่ให้มี”
ความคิดเห็นอันนึงน่าสนใจค่ะ น้องตอบว่า … เว็บไซต์ที่ดูตั้งใจทำ เค้าให้ความสำคัญกับ user ผมคิดว่าบริษัทก็น่าจะตั้งใจกับทุกเรื่องครับ ทั้งตั้งใจทำสินค้าให้มีคุณภาพดีเพราะให้ความสำคัญกับลูกค้า และก็น่าจะมี culture การทำงานที่ดีด้วย เพราะให้ความสำคัญกับพนักงาน เหมือนว่าเค้าไม่ได้มองแค่ตัวเอง แต่คิดถึงคนอื่นด้วย ประมาณนี้ครับ
เฉียบนะเนี่ย : )
และนี่คือสิ่งยุ้ยอยากแนะนำสำหรับเว็บไซต์ของคุณค่ะ
- ให้ความสำคัญกับการออกแบบกลยุทธ์เว็บไซต์
ทั้งด้านธุรกิจการตลาด เนื้อหา ดีไซน์ ด้านเทคนิค และการจัดการ - มีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการให้เว็บไซต์นี้ทำหน้าที่อะไร (Goals) และทำเพื่อใคร (Target Audience)
เพราะเป้าหมายและกลุ่มผู้ใช้งานที่แตกต่างกัน การออกแบบเว็บไซต์ก็แตกต่างกันด้วยค่ะ - ทุกการดีไซน์มีเหตุผลรองรับเสมอ เราจะไม่ทำเพราะความสวยงามอย่างเดียว
เช่น การวางรูปภาพ สลับกับข้อความ
ก็เพื่อให้มีจุดพักสายตา ใช้รูปภาพช่วยในการอธิบาย และรูปภาพเรียกร้องความสนใจได้ดีกว่าตัวอักษร … ฉะนั้น เราก็อย่าหยุดสวยค่ะ!
เช่น การใช้สีพื้นหลัง สีเทาจางๆ
ก็เพื่อให้ข้อความและรูปภาพโดดเด่นขึ้นมา และดูละมุนสายตาขึ้นด้วย
Tips
- ปกติคนเราทำความเข้าใจกับรูปภาพได้ดีกว่าตัวอักษร
- และเราก็ไม่ชอบอ่านข้อความยาวๆ พิมพ์ติดๆ กันทั้งหน้า
- ข้อความจำนวนมาก ให้จัดกลุ่มข้อความ แล้วแบ่งย่อหน้า + ใส่หัวข้อของย่อหน้า
- เพราะพฤติกรรมของ user จะอ่านแบบพรีวิว สแกนเร็วๆ ไม่ได้อ่านทุกตัวอักษร
- เมื่อเค้าเจอจุดที่สนใจ จึงจะไปโฟกัสส่วนนั้น “หัวข้อ (heading)” จึงสำคัญ แบบว่า “ต้องถึงกับหยุดดู”
- หรือใส่ bullet point ก็จะทำให้อ่านสบายตาขึ้นค่ะ
- ตอนที่เราออกแบบ ให้เราคิดตามไปด้วยว่า …
“จะทำยังไงนะ ให้ user สะดวกสบายที่สุดในการใช้งานเว็บไซต์ และรู้สึกดีกับแบรนด์ของเรา”
ทั้งหมดนี้อาจจะดูเหมือนเยอะสิ่ง มันเป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ การฝึกฝน ผ่านประสบการณ์ลงมือทำ พอเราทำจนชำนาญ อะไรพวกนี้เราจะคิดและออกแบบได้ auto เลยล่ะค่ะ
สำหรับมือใหม่ ไม่เป็นไร ค่อยๆ เรียนรู้ไปทีละเรื่อง นอกจาก UX/UI แล้ว … ถ้าให้พี่ยุ้ยแนะนำตอนนี้ อยากให้พวกเราลองศึกษาเกี่ยวกับ Design Thinking และ Service Design นะคะ สนุกค่ะ 2 ตัวนี้ที่จริงแทบจะเป็นเรื่องเดียวกัน หากเราเข้าใจ จะช่วยให้เราตั้งทรงได้เร็วขึ้นเยอะเลยล่ะ
บทความ : Webmonster Lab | Yui Kanchita
Featured Image: unsplash.com