เริ่มต้นธุรกิจด้วย Design Thinking แบบที่ Startup ใช้
โลกธุรกิจและการตลาดของเราตอนนี้ ที่เปลี่ยนยุค ไม่ใช่เปลี่ยนแค่ “ออฟไลน์” ไป “ออนไลน์” แต่เปลี่ยนไปถึง แนวคิดการทำงาน และวิถีของ business ด้วย // รู้สึกเหมือนกันใช่มั้ยคะ ว่าอะไรๆ ก็ไม่เหมือนเดิม
ยุ้ยขอแนะนำ E-Book ชุดนี้ค่ะ
เหมาะมากสำหรับผู้เริ่มต้น!
เนื้อหาดีมาก กระชับ เข้าใจง่าย
ดีไซน์น่าอ่าน และใช้เวลาสั้นๆ
… ดาวน์โหลดฟรี ด้วยจ้า 😀
คู่มือสำหรับคนเตรียมปั้นธุรกิจ
แจกให้อ่านกันฟรี! E-Book ซีรีส์ SET Your Business Guide
- ดาวน์โหลดฟรี เล่ม 1 – รู้จักธุรกิจสตาร์ทอัพ
- ดาวน์โหลดฟรี เล่ม 2 – เริ่มต้นธุรกิจด้วย Design Thinking และ Lean Canvas
- ดาวน์โหลดฟรี เล่ม 3 – การประเมินมูลค่าธุรกิจสตาร์ทอัพ
วิธีการรับ E-Book โดยตรงจาก SET
- เข้าไปตาม link
- กดปุ่ม “ดาวน์โหลด” เลื่อนลงด้านล่างหน่อยนะคะ
- กรอกข้อมูลก่อนรับ E-Book (ตามที่ระบุ)
จัดทำโดย : ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ประกอบการ ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน (TSI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)
สำหรับเจ้าของธุรกิจ SME ธุรกิจครอบครัว ธุรกิจส่วนตัว ธุรกิจเจ้าของคนเดียว อาจจะเคยได้ยินเรื่องเหล่านี้มาบ้าง แต่ถ้ารู้สึกว่าเป็นเรื่องเข้าใจยาก ลองวิธียุ้ยมั้ยคะ
อ่านเล่ม 1 เพื่อให้รู้ภาพรวมก่อนว่า Startup คืออะไร มีแนวคิดและวิธีบริหารจัดการธุรกิจยังไง
อ่านเล่ม 2 เพื่อให้เข้าใจกระบวนการ Design Thinking และ Lean Canvas
อ่านเล่ม 3 เพื่อให้รู้จักการประเมินมูลค่าธุรกิจสตาร์ทอัพ
คุณอาจจะยังไม่เข้าใจทั้งหมดนี้ด้วยการอ่านเพียง 1 รอบ (เป็นเรื่องปกติค่ะ) แต่ยุ้ยอยากชวนให้คุณค่อยๆ ทำความเข้าใจภาพรวมก่อน แล้วเจาะไปทีละจุด โดยเริ่มจากเชื่อมโยงสิ่งที่เกี่ยวข้องและใกล้ตัวคุณมากที่สุด แล้วคุณจะค่อยๆ เห็นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นค่ะ
หลายสิ่งก็เป็นอะไรที่คุณทำอยู่แล้ว เพียงแค่คำศัพท์ที่ใช้เรียก แตกต่างออกไป และถูกเรียบเรียงใหม่เป็นแนวความคิด เป็นกระบวนการ เพื่อให้มีหลักการ มีรูปแบบที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
เมื่อคุณเริ่มเข้าใจมันแล้ว คุณก็จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ใน way ของคุณได้ค่ะ ส่วนเรื่องไหนที่คุณอยากรู้ให้ลึกกว่านี้ คุณก็จะได้ keyword ไปค้นหาต่อใน Google ได้อีกค่ะ
ขอแวะพูดถึง Design Thinking ที่อยู่ใน E-Book เล่ม 2 สักหน่อยนะคะ ยุ้ยสังเกตได้ว่าคนที่คุยๆ กันส่วนใหญ่ (เพื่อนฝูงและเพื่อนร่วมงานของยุ้ยนะคะ) จะมองว่า Design Thinking เป็นเรื่องของคนที่อยู่ในสายงานดีไซน์เท่านั้น อาจเป็นเพราะชื่อเรียก มันมีคำว่า design 😀 จึงทำให้คนเข้าใจในมุมที่จำกัด ทำให้พลาดโอกาสดีๆ ที่จะได้เรียนรู้เพื่อเอาไปปรับใช้กับงานของเค้าค่ะ ยุ้ยจึงมาขยายความมีประโยชน์เพิ่มเติมให้อีกสักเล็กน้อย // บทความนี้จะขอพูดในมุม business นะคะ
Design Thinking คืออะไร มีขั้นตอนยังไง
Design Thinking คือ “กระบวนการคิด” ในการแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่เน้นการทำความเข้าใจปัญหาต่างๆ โดยยึดผู้ใช้ (user) เป็นศูนย์กลาง และนำเอาความคิดสร้างสรรค์และมุมมองจากคนหลากหลายสายงาน มาร่วมกันสร้างไอเดีย แนวทางการแก้ไข และนำไอเดียนั้นมาสร้างต้นแบบ เพื่อทดสอบ และพัฒนาให้เกิดขึ้นจริง
Design Thinking มี 5 ขั้นตอน
- ขั้นที่ 1 เข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้ง (Empathise)
- ขั้นที่ 2 การตั้งโจทย์ กำหนดหนดปัญหา (Define)
- ขั้นที่ 3 สร้างไอเดีย (Ideate)
- ขั้นที่ 4 สร้างต้นแบบ (Prototype)
- ขั้นที่ 5 นำไปทดสอบ (Test)
Image Source – www.interaction-design.org/literature/article/5-stages-in-the-design-thinking-process
แปลไทย โดย Webmonster Lab
ชื่อคือ design แต่ …..
Design Thinking ไม่ได้ใช้แค่ในกระบวนการออกแบบ product ในทีม Agile เท่านั้น แต่ยิ่งใหญ่กว่านั้น มันคือ framework หรือกรอบความคิด ที่มาช่วยให้เรามีกระบวนการคิด มีแนวทาง ไม่ออกทะเล (คิดนอกกรอบ คือ ความครีเอทีฟ คนละตัวกับ กรอบความคิด ไม่งง ใช่มั้ยคะ 😁)
- Design Thinking ใช้ได้กับ business
- ใช้ได้กับการค้นหาไอเดีย แนวทางใหม่ๆ
- ใช้ได้กับการหา solution เพื่อแก้ปัญหา
- ใช้ได้ทั้ง Digital และ Physical
- ใช้ได้ทั้งการทำงานรูปแบบ Agile และไม่ Agile
- และอื่นๆ
Agile คือ แนวคิดการทำงานที่เน้นผลลัพธ์มากกว่าขั้นตอน เป็นที่นิยมในบริษัท IT และ Tech Startup เน้นการทำงานที่มีความคล่องตัวสูง กระตุ้นให้ทุกคนสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับกล้าทดลองทำสิ่งใหม่ๆ มีพื้นที่ให้สำหรับความผิดพลาดแล้วรีบเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น
แบ่งโครงการออกเป็นส่วนงานย่อยๆ ทยอยปล่อย แทนที่จะรอทำจนเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการแล้วปล่อยออกสู่ตลาดทีเดียว (Agile เหมาะกับบางธุรกิจ/บางองค์กร/บางโปรเจค ไม่ได้เหมาะกับทุกที่ ต้องพิจารณาปรับใช้ดีๆ นะคะ)
ธุรกิจของคุณไม่ใช้ Agile ก็ได้นะคะ คุณอาจจะเป็นธุรกิจ SME หรือธุรกิจครอบครัว ที่อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่เถ้าแก่ อาซ้อ อาเฮีย อาเจ้ ที่เป็นเจ้าของกิจการ คุณอาจจะเป็นเจ้าของร้านอาหาร ที่มีพนักงานส่วนใหญ่เป็นระดับปฏิบัติการ เป็นแรงงาน เช่น พนักงานเสิร์ฟ พนักงานในครัว เป็นต้น ก็ไม่เหมาะที่จะบริหารงานด้วยวัฒนธรรมแบบ Agile แต่คุณสามารถสื่อสารกับพนักงานของคุณบ่อยๆ ได้ ถามถึงปัญหาที่พวกเค้าเจอ ให้พวกเค้าแสดงความคิดเห็นได้โดยที่ไม่ต้องกลัวว่าจะทำให้คุณไม่พอใจ เพราะเค้าคือคนที่อยู่หน้างานจะรู้รายละเอียดค่อนข้างดีทีเดียว ว่าลูกค้าชอบอะไร เจอปัญหาอะไร คนในครัวเจอปัญหาอะไร ถ้าทำอะไรแล้วจะช่วยลดต้นทุนไม่ต้องเหลือของเททิ้ง หรือช่วยให้งานในครัวเร็วขึ้นได้ เป็นต้น
แต่คุณสามารถใช้ Design Thinking กับธุรกิจของคุณได้ค่ะ
เช่น คุณอยากจะเพิ่มเมนูอาหารใหม่ แต่คุณยังไม่แน่ใจว่าจะขายดีมั้ย ลูกค้าจะชอบมั้ย เราอาจจะกินเองแล้วอร่อยมาก แต่คนอื่นอร่อยกับเราด้วยไหม อันนี้คือปริศนา คุณก็เอาแนวทางของ Design Thinking มาใช้ได้ค่ะ แล้วปริศนานั้นจะถูกคลี่คลาย
ถ้าคุณได้อ่าน E-Book เล่ม 2
และพอเข้าใจ Design Thinking อยู่บ้างแล้ว
จะเห็นว่า Design Thinking เป็น “กระบวนการทางความคิดเชิงออกแบบ” ที่มาคู่กับแนวความคิด “การออกแบบที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง” (Human-Centered Design) เพราะสิ่งที่มนุษย์พยายามออกแบบและสร้างสรรค์ขึ้นมา ก็เพื่อแก้ไขปัญหาหรือตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์นั่นเอง
และเมื่อเชื่อมโยงเข้ากับธุรกิจ
มนุษย์ผู้นี้ก็คือ “ลูกค้า” และ “ผู้ใช้สินค้า/บริการ” พอจะเห็นภาพมากขึ้นแล้วใช่มั้ยคะว่า Design Thinking เกี่ยวข้องและมีประโยชน์กับการบริหารจัดการธุรกิจยังไง
บทความ : Webmonster Lab | Yui Kanchita
Featured Image: www.freepik.com/vectors/startup