ทำไมเว็บไซต์จึงต้องการ Webmaster
หลายๆ ครั้งที่ยุ้ยมีโอกาสได้พูดคุยกับลูกค้า ส่วนใหญ่จะไม่ทราบและมักจะถามยุ้ยว่า…
“เว็บไซต์จำเป็นต้องมีเว็บมาสเตอร์ด้วยหรอ”
“ทำเว็บเสร็จแล้วน่าจะจบงานแล้ว ทำไมต้องมีคนดูแลเว็บไซต์ด้วยล่ะ”
“ลูกค้าทำเองได้มั้ย”
อ่ะเคร… วันนี้พี่ยุ้ยจะมาตอบคำถามเหล่านี้นะฮะ (ยาวหน่อยนะ วันนี้ เพราะว่ามียกตัวอย่างประกอบให้ด้วยค่ะ)
คำถามและข้อสงสัยเหล่านี้ก็เป็นหน้าที่ ที่คนทำเว็บอย่างพวกเราควรต้องชี้แจงและทำความเข้าใจกับลูกค้าก่อนรับงานทำเว็บไซต์อ่ะนะคะ เพราะเมื่อเว็บไซต์ทำงานไป มันจะมีไฟล์แคช ไฟล์ขยะไรพวกนี้ หรืออาจจะเจอ error บางอย่าง คือมันมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ด้วย environment ที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงการอัปเดตเวอร์ชั่นของ WordPress และระบบต่างๆ ด้วย จึงจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญดูแลเว็บไซต์เพื่อให้เว็บไซต์ทำงานได้เป็นปกติอยู่ตลอดเวลา
ปกติเว็บไซต์จะมีการต่ออายุรายปี (hosting + domain name)
แนวทางที่ 1 : แยก service MA
คือแยกบริการดูแลและบำรุงรักษา (MA – Maintenance Service Agreement) รายปี รายเดือน หรือรายครั้งแล้วแต่ตกลง แยกออกจากค่าต่ออายุ โฮสติ้ง โดเมน – ซ่อมบำรุงเป็นรายครั้ง ค่าต่ออายุรายปีจะต่ำ แต่ความเสี่ยงสูง เพราะเว็บไซต์คล้ายๆ ว่าจะถูกปล่อยร้าง ไม่มีคนคอยดูแล เจอปัญหาที ค่อยมาแก้ที
แนวทางที่ 2 : รวม service MA
คือรวมบริการดูแลและบำรุงรักษาไปกับ hosting + domain รายปีไปเลย หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็น “ค่าต่ออายุเว็บไซต์รายปี” ก็ได้ค่ะ – แบบนี้ค่าต่ออายุรายปีจะสูงขึ้นมาหน่อย แต่ความเสี่ยงต่ำ ลูกค้าสามารถอุ่นใจได้ เพราะมีคนคอยดูแลเว็บไซต์ให้ทำงานได้เป็นปกติอยู่ตลอดเวลา
Tips สำหรับคนรับทำเว็บ (ผู้รับจ้าง)
- ต้องไม่ลืมว่าทุกๆ การทำงานมีต้นทุนเสมอ แต่ต้นทุนบางอย่างก็ดูไม่งามที่เราจะแจ้งและเรียกเก็บเงินลูกค้า (ส่วนใหญ่จึงใช้เป็นราคาเหมา หรือจัดเป็นแพคเกจ ในราคาที่เหมาะสมโดยที่เราไม่ขาดทุน หรือมีกำไรพองาม)
- น้ำใจและบริการที่น่ารัก น่าประทับใจ เราสามารถทำได้ค่ะ
Tips สำหรับผู้จ้างทำเว็บ
- อย่าลืมที่จะสอบถามถึงบริการหลังการขาย การต่ออายุรายปี ครอบคลุมอะไรบ้างนะคะ
- การอัพเดตระบบ กับ การอัพคอนเท้นต์เพิ่มภายหลัง (เพิ่มข้อมูล) เป็นคนละส่วนงานกันนะ
- ราคาขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย และต้นทุนที่ไม่เท่ากันของผู้ให้บริการแต่ละรายค่ะ
- บางเจ้า ราคาถูกมากๆ เค้าอาจจะคิดแค่ค่าต่ออายุ Domain + Hosting ไม่ได้มี Service MA นะคะ (ประมาณว่าทำเว็บเสร็จแล้ว ปล่อยจอยค่ะ มีปัญหา จึงค่อยมาเปิดเคส อาจจะคิดค่าบริการเพิ่ม หรือไม่คิด ก็มีทุกรูปแบบค่ะ)
… มาถึงคำถามที่เปิดไว้ตอนต้นนะคะ …
เว็บไซต์จำเป็นต้องมีเว็บมาสเตอร์ด้วยหรอ
ทำเว็บเสร็จแล้วน่าจะจบงานแล้ว ทำไมต้องมีคนดูแลเว็บไซต์ด้วยล่ะ (ขอตอบรวมกันเลยจ้า)
ใช่ค่ะ เว็บไซต์ต้องการเว็บมาสเตอร์ หรือ เว็บแอดมิน
- เว็บไซต์ต้องการ การดูแล ตรวจสอบการทำงานของเว็บไซต์ว่าปกติดีหรือไม่ มีอะไรแปลกปลอมเข้ามาในระบบไหม
- เมื่อเว็บไซต์ go online หรือทำงานไปสักพัก อาจจะเกิดขยะฐานข้อมูล
- เว็บไซต์ต้องการ “การอัพเดท” (ขอพูดถึงเฉพาะเว็บไซต์ที่ทำด้วย WordPress นะคะ)
1. เว็บไซต์ต้องการ การดูแล ตรวจสอบการทำงานของเว็บไซต์ว่าปกติดีหรือไม่ มีอะไรแปลกปลอมเข้ามาในระบบไหม
หนึ่งในงานหลักของ Webmaster ก็คือ ต้องเข้ามาเช็คที่ Google Search Console เป็นประจำค่ะ
เครื่องมือตัวนี้บอกอะไรได้หลายอย่างมาก เรียกว่าเป็น เครื่องมือตรวจสุขภาพเว็บไซต์ของเรา ก็ว่าได้
รูปภาพนี้ ยกตัวอย่างที่ 1
การแจ้ง error ข้อผิดพลาดต่างๆ
แต่ถ้าคนที่ไม่ใช่ Webmaster หรือไม่มีความรู้เกี่ยวกับ Web Performance เห็นรูปนี้แล้วอาจจะตกใจได้ฮ่ะ สีแดงแจ๊ดแจ๋แบบเน้
คือบางเว็บไซต์อาจจะมีบางหน้าเว็บที่เราไม่ต้องการให้ Google เก็บข้อมูล หรือไม่ต้องการให้โชว์ที่หน้าผลการค้นหาของ Google แต่เราต้องการให้เข้าถึงแบบ direct link ได้ ก็เลยใส่โค้ด noindex, nofollow เอาไว้ เครื่องมือก็เลยแจ้งว่าเป็นข้อผิดพลาด สีแดง – เคสแบบนี้ไม่ได้ทำให้เว็บไซต์เกิดความเสียหายค่ะ (เว็บมาสเตอร์อาจจะเข้าไปทำการ fix เพื่อให้ google ไม่ต้องแจ้งเตือนเคสแบบนี้อีกก็ได้นะคะ)
เช่น Landing Page เฉพาะแคมเปญ, หน้า demo ตัวอย่างเว็บไซต์ เป็นต้น
รูปภาพนี้ ยกตัวอย่างที่ 2
การแจ้งว่าหน้าเว็บไหนของ Webmonster Lab มีประสิทธิภาพสูงสุด
อันนี้ยุ้ยให้ดูตัวอย่าง 1 หน้า ก็คือ บทความ วิธีการติดตั้ง WordPress บน Windows localhost (XAMPP) สอนละเอียดมาก บทความนี้เมื่อเดือน ก.ค. 2020 มีจำนวนการคลิก 1,339 ครั้ง บอกได้ด้วยว่าบทความไหนได้รับความนิยมมากน้อยยังไง เข้ามาเว็บไซต์นี้ด้วย keyword อะไร ที่เป็นคำค้นหาที่มีประสิทธิภาพสูง พอเรารู้อย่างนี้แล้ว ก็วางแผนดัน หรือ ปรับจูน บทความอื่นๆ อีกได้ค่ะ
และในข้ออื่นๆ ที่สำคัญ เช่น เว็บไซต์ถูกโจมตีจากมัลแวร์หรือเปล่า ระบบต่างๆ ของเว็บไซต์ยังทำงานได้ปกติดีอยู่มั้ย มีหน้าเว็บไหนที่ Google ยังไม่ index บ้าง อะไรอย่างนี้เป็นต้น
ถ้าหากขาดการตรวจสอบเป็นประจำ ส่วนใหญ่หลายคนจะคิดไปถึงอันดับ SEO ร่วงแน่เลย เพราะ Google ไม่ชอบเว็บพังๆ
เดี๋ยวก่อนฮ่ะ อย่าเพิ่งคิดไปถึง Google ให้คิดถึง user ก่อนค่ะ
ลองนึกภาพตามนะคะ ถ้าลูกค้ากำลังกดซื้อสินค้าบนเว็บไซต์ แล้วเค้า เพิ่มสินค้าลงตะกร้าไม่ได้ ไม่ใช่เพราะ stock หมด แต่เป็นเพราะระบบตะกร้าไม่รองรับเวอร์ชั่นใหม่ของ WordPress (ที่ถูกตั้งค่า auto update เอาไว้) หรือ เวอร์ชั่น WordPress เก่ามากจนระบบแจ้งเตือนขึ้นว่า ไม่สามารถใช้งานฟีเจอร์สำคัญบางอย่างได้อีกแล้ว ก็จำเป็นต้องอัพเดทระบบทั้งหมดให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุด และยังมีที่จู่ๆ ผู้พัฒนา plugin หยุดพัฒนา/ยกเลิก ก็ต้องไปหา plugin ตัวอื่นมาใช้แทน (เว็บยุ้ยเคยเจอทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมาแว้ว หุหุ)
เคสแบบนี้ถ้าไม่มีเว็บมาสเตอร์หรือคนดูแลเว็บไซต์ ก็จะไม่ทราบเลยค่ะว่าเป็นเพราะเรื่องเวอร์ชั่นระบบ หรืออะไรส่วนไหนของเว็บไซต์ที่ใช้งานไม่ได้ และก็ยังมีปัญหาจุกจิกสารพัดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะว่าตัวเว็บไซต์มีการใช้งานหลายระบบเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน บางครั้งก็ต้องลงไปดูลึกถึงระดับโฮสติ้ง … ก็จะเป็นเรื่องเทคนิคคอล ไอทีนิดนึงนะคะสำหรับส่วนงานของเว็บมาสเตอร์ หรือผู้ดูแลเว็บไซต์ (เป็นไงหนุกมั้ย สำหรับยุ้ยสนุกค่ะเพราะชอบทำงานด้านเว็บ อิอิ)
2. เมื่อเว็บไซต์ go online หรือทำงานไปสักพัก
อาจจะเกิดขยะฐานข้อมูล ยิ่งถ้าลูกค้าอัพคอนเท้นต์เอง แล้วแก้ไขแบบเยอะมากๆ โอกาสที่จะเกิดไฟล์ขยะก็เยอะมากๆ เช่นกัน เนื่องจากระบบจะสร้างไฟล์ temp อัตโนมัติ แต่มันไม่ได้ลบออกอัตโนมัติให้เรา (เราต้องลบเอง ก็อาจจะไม่รู้ว่าต้องลบที่ตรงไหน)
ก็จำเป็นต้องเคลียร์ไฟล์ขยะเหล่านั้น และทำการปรับปรุงฐานข้อมูล ปรับจูนเว็บไซต์อะไรก็ว่ากันไป
ถามว่ามันร้ายแรงมากเลยหรอ… ก็ไม่ได้ร้ายแรงอะไรขนาดนั้นค่ะ เพียงแค่เว็บอาจจะอืดๆ บวมๆ โหลดช้าหน่อย เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ (ขึ้นอยู่กับขนาดเว็บไซต์ด้วยนะคะ)
ถ้าเราต้องการเว็บไซต์ที่โหลดเร็วๆ High Performance ก็จำเป็นต้องปรับจูนและอัพเดทเว็บไซต์อยู่เรื่อยๆ ค่ะ
ขอยกตัวอย่าง case study ที่เกิดขึ้นกับยุ้ยเองนะคะ
webmonsterlab.com ตอนที่ใช้งานเว็บมา 5 ปี ก็ปกติดีไม่มีอะไร แค่รู้สึกว่าช่วงหลังจะอืดๆ นิดนึง แต่ก็ยังรับได้อยู่
พอปีที่ 6 เว็บล่มจ้า เนื่องจาก database บวม… บวมขนาด 6 แสนกว่าตารางฐานข้อมูลทำงานพร้อมๆ กัน… ก็เลย เว็บล่ม อิอิ >,<
แต่ยุ้ยเป็น Webmaster ของเว็บตัวเองไง มันล่มเดี๋ยวนั้นก็กู้คืนเดี๋ยวนั้นได้เลย
3. เว็บไซต์ต้องการ “การอัพเดท”
(ขอพูดถึงเฉพาะเว็บไซต์ที่ทำด้วย WordPress นะคะ)
อย่างที่ยกตัวอย่างไป การอัพเดทของ WordPress ส่วนใหญ่ปรับปรุงเรื่อง ความปลอดภัย อุดช่องโหว่ต่างๆ ยุ้ยเคยลองลากยาว ไม่อัพเดทดู รู้เรื่องเลยค่ะ จู่ๆ ใช้งานไม่ได้เฉย! เข้าหลังบ้านไปดู ก็เลยรู้ว่าอ่อ WordPress บังคับให้อัพเดทด้วยเหตุผลด้าน security (ยุ้ยจำเวอร์ชั่นไม่ได้แล้ว มันจะมีอยู่ช่วงนึงอ่ะค่ะ)
ดูวิธีการอัพเดท WordPress ที่ถูกต้อง
ได้ที่บทความ คุณก็อัพเดท WordPress ได้ด้วยตัวเอง
ลูกค้าทำเองได้มั้ย…
ใครก็ตามที่อ่านบทความวิธีอัพเดท WordPress ข้างต้นนี้แล้วเข้าใจ หรือจะเป็นบทความจากที่ไหนก็ได้ หรือดู how to จาก YouTube ก็มีคนทำคลิปสอนเอาไว้เยอะมากเลย… แล้วเข้าใจ ทำตามได้ ก็ทำเองได้ค่ะ
คือมันไม่ยากนะคะ แต่มีรายละเอียดและขั้นตอนอยู่ค่ะ ถ้าไม่แม่น ไม่ชัวร์ แล้วกดปุ่ม Update คลิกเบาๆ ไป 1 ที เว็บไซต์ก็อาจจะพังเอาได้เลยนา เพราะเวอร์ชั่นของระบบต่างๆ ยังไม่รองรับกัน (อันนี้คือเคสที่เจอบ่อยๆ)
ถ้าเว็บพังแล้ว กู้คืนเองได้ไหม
มีต่อเด้งที่สองอีก ก็ต้องถึงมือพี่ Webmaster ให้ช่วยจัดการแล้วล่ะค่ะ
สรุปก็คือ อยากจะมาแชร์ให้ฟังว่า
หลังจากทำเว็บไซต์เสร็จแล้ว ยังมี process ต่ออีกนะ ก็คือ การดูแลบำรุงรักษา อัพเดทเว็บไซต์ อย่างที่กล่าวไปตอนต้นบทความนะคะ
- การที่เว็บไซต์ใช้งานได้เป็นปกติตลอดเวลา ไม่เสียไม่พัง
- เกิดจากการดูแลเว็บไซต์อย่างดี + การเลือกใช้ระบบที่มีคุณภาพนั่นเองค่ะ
บทความ/รูปภาพ :
Webmonster Lab | Yui Kanchita